ใบความรู้ที่ 1 ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์ (ที่มาของนาฏศิลป์ไทย)

ใบความรู้ที่ 1
ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์ (ที่มาของนาฏศิลป์ไทย)

                ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นเอกราชมาช้านาน มีศิลปวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  จนเป็นที่ชื่นชอบของนานาประเทศที่ได้พบเห็นความงดงามในศิลปวัฒนธรรมไทย  แม้ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม จากต่างชาติกันหลากหลายที่กำลังหลั่งไหลเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย  แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยยังสามารถอนุรักษ์และสืบทอดได้จนถึงทุกวันนี้คือ นาฏศิลป์  อันเป็นศิลปะประจำชาติที่คนไทยทุกคนควรอนุรักษ์และให้การสนับสนุน เพื่อให้ศิลปะแขนงนี้ดำรงอยู่สืบไป  ในอนาคต

ความหมายของคำว่า  “นาฏศิลป์
            นาฏศิลป์  มาจากคำว่า  “นาฏ”  กับคำว่า  “ศิลปะ
            นาฏ         คือ  การร่ายรำและการเคลื่อนไหวไปมา
            ศิลปะ      คือ  การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นอย่างงดงาม  น่าพึงชมก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
           
เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันมีผู้ให้ความหมายต่าง ๆ กัน  ดังนี้

            นาฏศิลป์         คือ  ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรำ
            นาฏศิลป์         คือ  การฟ้อนรำ
            นาฏศิลป์         คือ  ความช่ำชองในการฟ้อนรำ
            นาฏศิลป์         คือ  การร้องรำทำเพลง  ให้ความบันเทิงใจ  อันประกอบด้วยความโน้มเอียงแห่ง
                                               อารมณ์และความรู้สึก

            สรุปได้ว่า  “นาฏศิลป์”   คือ  ศิลปะการร้องรำทำเพลงที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์โดยประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตและมีแบบแผน  ให้ความรู้ความบันเทิง  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ยังคงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความรุ่งเรืองของชาติได้เป็นอย่างดี
  
ความสำคัญของนาฏศิลป์

นาฏศิลป์  เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ ความสำคัญของนาฏศิลป์มีดังนี้
        1. นาฏศิลป์  แสดงความเป็นอารยประเทศ  บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองดีก็ด้วยประชาชนมีความเข้าใจศิลปะ  
เพราะศิลปะเป็นสิ่งมีค่าเป็นเครื่องโน้มน้าวอารมณ์  ให้ไปในทางที่ดีเป็นแนวทางนำให้คิด  และให้กำลังใจในการที่
จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองสืบไป
        2. นาฏศิลป์เป็นแหล่งรวมศิลปะ  ประกอบด้วยศิลปะประเภทต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องสอดคล้องกัน เช่น  ศิลปะการ
เขียน  การก่อสร้าง  การออกแบบ เครื่องแต่งกาย  และวรรณคดี  ศิลปะแต่ละประเภทได้จัดทำกันด้วยความประณีต
สุขุม ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยศิลปะเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของชาติมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต้องมีศิลปะของตนไว้เป็น
ประจำ  นับแต่โบราณมาจนถึงทุกวันนี้  รวมความว่า นาฏศิลป์มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น  สร้างความเป็นแก่น
สารให้แก่บ้านเมืองด้วยกันทั้งนั้น

การเกิดนาฏศิลป์

            นาฏศิลป์  หรือศิลปะแห่งการแสดงละครฟ้อนรำนั้นมีมูลเหตุที่เกิด  ดังนี้
1. เกิดจากที่มนุษย์ต้องการแสดงอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ให้ปรากฏ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสื่อความหมายเป็นสำคัญเริ่มตั้งแต่
                        1.1     มนุษย์แสดงอารมณ์ตามธรรมชาติออกมาตรง ๆ  เช่น การเสียใจก็ร้องให้  ดีใจถูกใจก็ตบมือส่งเสียงหัวเราะ
                       1.2   เกิดจากการที่มนุษย์ต้องการเอาชนะธรรมชาติด้วยวิธีต่างๆ ที่นำไปสู่การรำเพื่อบูชาสิ่งที่ตนเคารพตามลัทธิศาสนาของตน  ต่อมาจึงเกิดเป็นความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่เราเคารพบูชา  โดยเริ่มจาก การวิงวอนอธิษฐาน  จนถึงสุดท้ายมีการประดิษฐ์เครื่องดนตรี  ดีด  สี  ตี และเป่า  การเล่นดนตรี  การร้องและการรำเกิดขึ้นเพื่อให้เทพเจ้า เกิดความพอใจมากยิ่งขึ้น
                        1.3     เกิดจากการที่มนุษย์คิดประดิษฐ์หาเครื่องบันเทิงใจ หลังจากหยุดพักจากภารกิจประจำวัน 
เริ่มแรกอาจเป็นการเล่านิทาน นิยาย มีการนำเอาดนตรี และการแสดงท่าทางต่าง ๆ ประกอบเป็นการร่ายรำ 
จนถึงขั้นแสดงเป็นเรื่องราว
                     1.4   เกิดจากการเล่นเลียนแบบของมนุษย์  ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในขั้นต้นของมนุษย์  นำไปสู่การสร้างสรรค์ศิลปะแบบต่าง ๆ นาฏศิลป์ก็เช่นกัน  จะเห็นว่ามนุษย์นิยมเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ ทั้งจากมนุษย์เองสังเกตจากเด็ก ๆ ชอบแสดงบทบาทสมมุติเป็นพ่อเป็นแม่ในเวลาเล่นกัน  เช่น การเล่นตุ๊กตา  การเล่นหม้อข้าวหม้อแกง  หรือเลียนแบบจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  ทำให้เกิดการเล่น  เช่น  การเล่นงูกินหาง  การแสดงระบำนกยูง  ระบำม้า  เป็นต้น

 ความมุ่งหมายในการเรียนนาฏศิลป์
                 การเรียนนาฏศิลป์มีความมุ่งหมายดังนี้
1.  เพื่อเป็นการปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยทางศิลปะแก่ผู้เรียน
2.  เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น
3.  เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป
4.  เพื่อเป็นการฝึกให้รู้จักกล้าแสดงออก

ประโยชน์ในการเรียนนาฏศิลป์
            การเรียนนาฏศิลป์ทำให้เกิดประโยชน์ดังนี้
1.  ทำให้เป็นคนรื่นเริงแจ่มใส
2.  มีความสามัคคีในหมู่คณะ
3.  สามารถยึดเป็นอาชีพได้
4.  ทำให้รู้จักดนตรีและเพลงต่าง ๆ
5.  ทำให้เกิดความจำและปฏิภาณดี
6.  ช่วยให้เป็นคนที่มีบุคลิกท่าทางเคลื่อนไหวสง่างาม
7.  ช่วยในการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
8.  ได้รับความรู้นาฏศิลป์จนเกิดความชำนาญ สามารถปฏิบัติได้ดีมีชื่อเสียง

  คุณสมบัติของผู้เริ่มเรียนนาฏศิลป์
            การเรียนนาฏศิลป์ผู้ที่เริ่มเรียนควรมีคุณสมบัติดังนี้
1.    ต้องมีความสนใจและตั้งใจจริง
2.    ต้องทำใจให้รักและนิยมในศิลปะแขนงนี้
3.    ต้องมีสมาธิแน่วแน่ในขณะปฏิบัติ
4.    ต้องเป็นผู้ที่ช่างสังเกต
5.    ต้องพยายามเลียนแบบครูให้มากที่สุด
6.    ต้องเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยต่อความยากของบทเรียน  หรือความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้น

7.    ต้องเป็นผู้ที่ขยันในการทบทวนฝึกซ้อมท่ารำอยู่สม่ำเสมอ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ใบความรู้ที่ 3 ชุดที่ 1 เรื่อง ภาษท่า

ใบความรู้ที่ 2 ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์