ใบความรู้ที่ 2 ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์

ใบความรู้ที่ 2
ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์

นาฏยศัพท์  หมายถึง  ศัพท์ที่เกี่ยวกับลักษณะท่ารำที่ใช้ในการถ่ายทอดและฝึกหัดในการรำ
นาฏศิลป์ไทย ซึ่งจะใช้คำนาฏศัพท์เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดท่ารำ   ซึ่งนักเรียนจะต้องเป็นผู้ที่รู้จัก
ในเรื่องของนาฏยศัพท์มาแล้ว จะทำให้การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น 
นาฏยศัพท์ที่ควรทราบในพื้นฐานเบื้องต้น  มีดังนี้
ภาพที่ 1

ตั้งวง

           เป็นลักษณะของลำแขนที่ทอดโค้ง  ปลายนิ้วตั้งขึ้น  นิ้วทั้งสี่เรียงชิดติดกัน  นิ้วหัวแม่มือหักเข้าหาฝ่ามือเล็กน้อย  หักข้อมือเข้าหาลำแขน


ภาพที่ 2



วงบน
                     ตัวพระและตัวนางจะแตกต่างกัน ตัวพระวงบนจะอยู่ระดับแง่ศีรษะ (ขมับ) ส่วนโค้งของลำแขนจะกว้าง  ส่วนวงบนตัวนางจะอยู่ระดับหางคิ้ว  ส่วนโค้งของลำแขนจะแคบกว่าตัวพระ แล้วหักข้อมือเข้าหาลำแขน 

ภาพที่ 3







วงกลาง

              เป็นการตั้งวงโดยยกส่วนโค้งของลำแขนขึ้น ให้ปลายนิ้วสูงระดับไหล่ ตัวพระ ลำแขน     จะผายออกทางด้านข้าง ตัวนางลำแขนจะหุบเข้ามาทางด้านหน้าเล็กน้อย

ภาพที่

วงล่าง
            เป็นการตั้งวงโดยทอดส่วนโค้งของลำแขนไปด้านล่าง ปลายนิ้วมืออยู่ระดับหน้าท้อง หรือระดับสะเอว ตัวพระกันศอกให้เป็นช่องว่างระหว่างลำแขนกับลำตัว ตัวนางไม่ต้องกันศอก ปลายนิ้วอยู่ระดับหัวเข็มขัดวงล่าง

ภาพที่ 5

วงหน้า

              เป็นการตั้งวงโดยทอดส่วนโค้งของลำแขนไปด้านหน้า ปลายนิ้วมืออยู่ระดับปาก หรือระดับหน้าอก ตัวพระกันศอกให้เป็นช่องว่างระหว่างลำแขนกับลำตัว ตัวนางไม่ต้อง กันศอก ปลายนิ้วอยู่ระดับปาก

ภาพที่ 6

  วงบัวบานหรือวงพรหมสี่หน้า

                       เป็นการตั้งวงโดยการหงายลำแขน พร้อมทั้งหักข้อศอกให้แขนท่อนล่างพับเข้าหาลำตัว  ในลักษณะตั้งฉาก ข้อศอกสูงระดับไหล่   หงายฝ่ามือและหักข้อมือลงปลายนิ้วชี้ เฉียง ออกมาด้านหน้าข้างลำตัว  ให้วงอยู่ระดับแง่ ศีรษะ ตัวพระ กันข้อศอกออกกว้างกว่าตัวนาง


ภาพที่ 7


จีบ


                    จีบ คือการหงายมือออกมาข้างหน้าแล้วเอานิ้วหัวแม่มือมาจรดข้อแรกของนิ้วชี้นิ้วทั้งสองเหยียดตึง  ส่วนนิ้วทั้งสามที่เหลือให้เหยียดตึงแล้วกรีดนิ้วออกไปเป็นรูปพัด  การจีบมือต้องหักข้อมือเข้าหาลำแขนให้มากที่สุด 




ภาพที่ 8


จีบคว่ำ




            เป็นการจีบโดยคว่ำท้องแขนและฝ่ามือลง  ให้ปลายนิ้วชี้ลงข้างล่างแล้วหักข้อมือเข้าหาท้องแขน ตัวพระ วงแขนกันออกกว้างกว่าตัวนาง

ภาพที่ 9

จีบหงาย 


            เป็นการจีบโดยหงายท้องแขนและฝ่ามือขึ้นให้ปลายนิ้วชี้ขึ้นข้างบนแล้วหักข้อมือเข้าหาลำแขน   ตัวพระวงแขนกันออกกว้างกว่าตัวนาง 
ภาพที่ 10
จีบปรกหน้า
           เป็นการจีบโดยหงายท้องแขนและฝ่ามือขึ้น ให้ปลายนิ้วชี้ขึ้นข้างบน แล้วยกลำแขนขึ้นหักข้อศอกให้ปลายนิ้วจีบหันเข้าหาใบหน้า จีบอยู่ระดับหน้า   ตัวพระ  วงแขนกันออกกว้างกว่าตัวนาง

ภาพที่ 11
จีบปรกข้าง


              การจีบโดยหงายท้องแขนและฝ่ามือขึ้น ให้ปลายนิ้วชี้ขึ้นข้างบน  แล้วยกลำแขน หักข้อศอกขึ้น หันปลายจีบเข้าหาศีรษะให้ปลายนิ้วมืออยู่ระดับแง่ศีรษะ หักข้อมือเข้าหาลำแขน ตัวพระ วงแขนกันออกกว้างกว่าตัวนาง



ภาพที่ 12
จีบส่งหลัง

               เป็นการจีบโดยเหยียดแขนให้ตึง   ส่งแขนไปข้างหลังของลำตัว  แล้วพลิกลำแขน  ส่วนล่างหงายขึ้นให้ปลายนิ้วที่จีบชี้ขึ้นข้างบน หักข้อมือเข้าหาลำแขน


ภาพที่ 13
 จีบล่อแก้ว


             เป็นกริยาของมือ ให้นิ้วหัวแม่มือกดปลายนิ้วกลาง นิ้วที่เหลือกรีดออกให้ตึง หักข้อมือเข้าหาลำแขน


นาฎยศัพท์ส่วนเท้า
           นาฏยศัพท์ส่วนเท้า  คือ  การใช้ร่างกายในส่วนของเท้าเคลื่อนไหวเพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายในส่วนอื่นได้อย่างถูกต้องสวยงาม  ตามแบบนาฏศิลป์ไทย   ดังนี้

ภาพที่ 14

จรดเท้า

               จรดเท้า  การจรดเท้านี้ จะจรดข้างไหนก่อนก็ได้ แต่จะปฏิบัติพร้อมๆกันไม่ได้ ถ้าจะจรดเท้าด้วยเท้าซ้ายก้าวเท้าขวาลงไป  พร้อมกันนั้นต้องยกเท้าซ้ายให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย  แล้วใช้จมูกเท้าวางลงบนพื้น   แต่ส้นเท้าต้องสูงจากพื้นพอประมาณ   การจรดเท้านี้น้ำหนักจะต้องไปอยู่ที่ขาตรงกันข้าม   เช่น  จรดด้วยเท้าซ้ายน้ำหนักจะต้องไปอยู่ที่ขาขวาเป็นต้น ตัวพระ  กันเข่าออกให้ได้เหลี่ยม

ภาพที่ 15
กระทุ้งเท้า


         กระทุ้งเท้า  คือ การกระแทกจมูกเท้าที่อยู่ข้างหลังครั้งหนึ่งก่อน  แล้วกระดกเท้าโดยยกเท้าที่กระแทกไปด้านหลัง  ให้ส้นเท้าชิดกับก้น  บางครั้งการกระทุ้งเท้าไม่ต้องกระดกก็มี  โดยกระทุ้งแล้วก้าวไปตามปกติ 

ภาพที่ 16

กระดกเท้า

   

         กระดก เท้าเป็นกริยาต่อเนื่องจากการกระทุ้งเท้าแล้วยกขึ้น วิธีกระดกเท้าต้องให้ส่วนของน่องหนีบติดกับท้องขา โดยส่งเข่าไปด้านหลังให้มากที่สุดปลายนิ้วเท้าชี้ลง

ภาพที่ 17
ประเท้า


             ประเท้า   การประเท้านี้จะประเท้าไหนก่อนก็ได้  แต่จะประเท้าเดียวพร้อม ๆ กันไม่ได้    ถ้าประเท้าขวาก่อนต้องย่อตัวลงแล้วถ่ายน้ำหนักให้มาอยู่ขาซ้าย  ส่วนขาขวาเวลานี้มีน้ำหนักเบามาก เพราะจะใช้ประแล้วก็ยืด ยุบ พอยุบลงแล้วดึงปลายนิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้ว ขึ้นมาให้มากที่สุด  แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นโดยการใช้ส้นเท้ายันพื้นไว้ แล้วจึงตบเท้าขวาลงพื้นเบาๆ และยกขึ้นเวลาตบเท้าลงไปจะต้องใช้จมูกเท้าอย่าใช้ปลายนิ้วเท้า  การจะยกเท้าขึ้นมานั้น  ต้องยกขึ้นมาในลักษณะกระชากเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าจะประเท้าซ้าย       ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับเท้าขวาการประเท้านี้ความสัมพันธ์อยู่ที่ยืด ยุบ     ประ ยก ต้องเป็นจังหวะที่ติดต่อจึง   จะใช้ได้ การประเท้านี้ มีอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1 ประแล้วยกขึ้น แบบที่ 2  คือประอยู่กับที่

ภาพที่ 18
ยกเท้า


                ยกเท้าเป็นกริยาต่อจากการประเท้า โดยยกเท้าขึ้นด้านหน้าให้ฝ่าเท้าขนาน กับพื้น ยกเท้าสูงระดับหน้าแข้งของเท้าที่ยืนรับน้ำหนักเชิดปลายนิ้วเท้าขึ้นให้เฉียงปลายเท้าเล็กน้อย ตัวนางไม่กันเข่าตัวพระกันเข่าออกให้เห็นเหลี่ยมขาและหันน่องออกด้านหน้า 


เอกสารอ้างอิง

โกสุม  สายใจและคณะ.  (2549).  สุนทรียภาพของชีวิต.  พิมพ์ครั้งที่ 10.  กรุงเทพมหานคร :     
                        มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต.
สุดใจ  ทศพร.  (2546).  หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี – นาฏศิลป์  ม.1.   
                        กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
เรณู  โกศินานนท์.  (2546).  นาฏยศัพท์-ภาษาท่าทางนาฏศิลป์  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพมหานคร :                       
                        บริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช
อมรา  กล่ำเจริญ.  (2531).  สุนทรียนาฏศิลป์ไทย  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพมหานคร :
       โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
อัญชญา  มีภู่.  (2553).  พื้นฐานนาฏศิลป์ไทยเบื้องต้น (เล่มที่ 1).  เข้าถึงได้จาก :                                                                                                    https://www.gotoknow.org/posts/376103    
                               (วันที่ค้นข้อมูล 10  กุมภาพันธ์  2557).
ครูอัษ.  (2554).  นาฎยศัพท์เข้าถึงได้จาก :
                               (วันที่ค้นข้อมูล10  กุมภาพันธ์  2557).   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ใบความรู้ที่ 3 ชุดที่ 1 เรื่อง ภาษท่า

ใบความรู้ที่ 1 ชุดที่ 1 เรื่อง นาฏยศัพท์ (ที่มาของนาฏศิลป์ไทย)